ผงกะหรี่นั้น นับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องเทศที่จำเป็นสำหรับคนทั้งโลกไปแล้ว แม้ว่าหากเราพูดถึงผงกะหรี่ เราอาจจะนึกถึงอาหารจากประเทศอินเดียเพียงเท่านั้น แต่อาหารอินเดียเองก็เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นข้าวหมกไก่, แกงถั่วต่าง ๆ และก็มีอาหารอีกหลายประเทศที่มีการดัดแปลงจากอาหารอินเดียซึ่งเป็นต้นตำหรับ และในผงกะหรี่นั้นก็มีส่วนประกอบที่สำคัญของขมิ้นชัน ที่มีสารประกอบจำพวก curcumin ที่ทำให้ขมิ้นเป็นสีเหลือง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดี แต่ในผลดีนั้นก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน หากคุณรับประทานมากเกินไป และในบทความวันนี้ พวกเราก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการรับประทานผงกะหรี่มากเกินไปมาฝากค่ะ
1. ทำให้เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุด
ขมิ้นมีคุณสมบัติในการป้องกันการแข็งตัวของเลือด ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการเลือดไหลไม่หยุด เมื่อใช้ร่วมกับยารักษาอื่น ๆ ซึ่งไม่ควรที่จะบริโภคขมิ้นไปพร้อมกับยาสลายลิ่มเลือด เช่น Heparin, Warfarin หรือCloridogrel ซึ่งคุณควรจะปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เมื่อได้รับยาที่มีชื่อดังกล่าว
2. ลดประสิทธิภาพของการรักษาแบบเคมีบำบัด
ในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบเคมีบำบัดนั้น ควรระมัดระวังในเรื่องการบริโภคอาหารอยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สาร curcumin อาจจะมีคุณสมบัติในการลดประสิทธิภาพของการรักษาแบบเคมีบำบัดได้ ดังนั้นหากคุณชื่นชอบอาหารที่มีส่วนผสมของผงขมิ้น คุณอาจจะต้องระมัดระวัง
3. กระตุ้นการเกิดนิ่วในไต
การบริโภคขมิ้นมากเกินไปนั้น อาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินปัสสาวะ จากการรวบรวมข้อมูลโดยมหาวิทยาลัยไวโอมิง ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้ที่บริโภคขมิ้นในปริมาณมาก จะก่อให้เกิดนิ่วในไตมากขึ้น
4. อาจจะทำให้เกิดปัญหาในระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง
แม้ว่าผลการวิจัยยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด แต่ก็เป็นจุดที่แพทย์ให้การระมัดระวังสำหรับผู้ป่วยที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับช่องท้อง ให้ควบคุมอาหารที่มีส่วนประกอบของขมิ้นชัน และจากหนังสือทางการแพทย์ก็ได้เขียนไว้ว่า ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือโรคทางลำไส้ เช่นแผลในกระเพาะอาหาร, ท่อน้ำดีอุดตัน หรือนิ่วในถุงน้ำดี ไม่ควรที่จะรับประทานเครื่องเทศเป็นอาหารเสริม และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะใช้ยาหรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของขมิ้นชัน
5. การขัดขวางการทำงานของขมิ้นชันกับยาประเภท Piperine
สารประกอบในขมิ้นชันอาจจะมีประโยชน์สำหรับบางคน แต่สำหรับผู้ที่มีอาการชัก หรือโรคหัวใจอยู่แล้ว อาจจะก่อให้เกิดโทษ เพราะจากการสังเกตของนักวิชาการด้านโภชนาการกล่าวว่า ยาที่มีส่วนประกอบของสาร Piperine จะเป็นสารที่ไปขัดขวางการทำงานของขมิ้น ซึ่งไม่ควรที่จะรับประทานคู่กัน
6. ไม่เป็นมิตรต่อผู้ที่แพ้กลูเตน
ในเครื่องเทศบางชนิดอย่างเช่น ผงกะหรี่นั้น จะมีส่วนประกอบของโปรตีนในข้าวไรย์, ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ ซึ่งมีส่วนประกอบของสารกลูเตน ทำให้ผู้ที่มีอาการแพ้จะก่อให้เกิดอาการท้องร่วง หรือเกิดการปวดเกร็งในช่องท้อง และจากการศึกษาในปี พ.ศ. 2548 โดยนักวิจัยจากประเทศโปแลนด์ พบว่า ผงกะหรี่เป็นประเภทอาหารที่มีส่วนประกอบของกลูเตน และไม่มีการระบุในฉลาก ดังนั้นผู้ที่แพ้กลูเตนจึงต้องระมัดระวังการบริโภคผงกะหรี่